การถูกทำร้ายร่างกาย ของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์

เหตุการณ์

ในระยะหลัง วรเจตน์มีบทบาทแสดงความคิดเห็นทางกฎหมายต่อการเมืองในเชิงวิพากษ์ซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจของบุคคลบางกลุ่ม วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 เวลาประมาณ 15:40 นาฬิกา มีชายสองคนเข้าทำร้ายร่างกายเขาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์[17] วรเจตน์ว่า ตนขับรถยนต์เก๋งเข้าไปจอดในคณะเพื่อเตรียมสอนในเวลาเย็น เมื่อลงจากรถ มีชายสองคนเดินปรี่เข้ามาจากด้านหลัง คนหนึ่งตะโกนว่า "กูรอมึงมานานแล้ว" และชกเข้าที่หน้าขวาเขาไม่ยั้ง จนแว่นตาที่เขาสวมอยู่กระเด็นตกพื้นเลนส์แตกเสียหาย เขาได้แต่ใช้มือปัดป้อง และเห็นหน้าชายทั้งสองไม่ชัด เนื่องจากสายตาสั้น เวลานั้น มีชายสองคนวิ่งเข้ามาช่วย ทราบภายหลังว่า เป็นเพื่อนอาจารย์ แต่ก็ถูกผู้ก่อเหตุทั้งคู่ผลักล้มลง จากนั้น คนทั้งสองวิ่งไปขึ้นจักรยานยนต์ แล้วพากันขับหลบหนีไป ระหว่างนั้นตะโกนไล่หลังว่า "ถ้ามึงอยากรู้ว่ากูเป็นใคร ให้ไปดูกล้องวงจรปิดดู เดี๋ยวก็รู้ว่ากูเอง"[17] ต่อมา เขาได้รับการนำส่งโรงพยาบาลธนบุรี แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย แพทย์ตรวจแล้วแถลงว่า มีบาดแผลฟกช้ำ และรอยขีดข่วนทั่วใบหน้าขวา ตั้งแต่โหนกแก้ม กรามขวา ไปจนถึงหน้าผาก กับทั้งมีเลือดไหลออกจากจมูก[17]

การดำเนินคดี

ในวันนั้นเอง พลตำรวจโท วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และพลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมทั้งพนักงานสอบสวน เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า กล้องวงจรปิดบันทึกภาพชายคู่ผู้ก่อเหตุและทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่ใช้หลบหนีไว้ได้ชัดเจน[17] พลตำรวจตรี วิชัย ว่า พวกตนได้รับมอบหมายจากพลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้รับผิดชอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะประชาชนให้ความสนใจ เวลานี้ ทราบตัวชายสองคนดังกล่าวแล้ว และจะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด[17] จากนั้น จึงนำกำลังไปจับกุมผู้ต้องสงสัยที่บ้านพักแต่ไม่พบ[6]

สุธน เข็มเพ็ชร์ พนักงานรักษาความปลอดภัยของคณะ และแม่บ้านของคณะ ว่า จำหน้าคนร้ายได้อย่างแม่นยำ เพราะเคยร่วมงานเผาหุ่นวรเจตน์ประท้วงที่หน้าคณะเมื่อเดือนก่อน[18] และปิยบุตร แสงกนกกุล เพื่อนอาจารย์ของวรเจตน์ ว่า ก่อนหน้านี้ วรเจตน์ และสมาชิกคนอื่น ๆ ของคณะนิติราษฎร์ เคยรับทั้งโทรศัพท์และจดหมายข่มขู่ ซ้ำยังมีคนแปลกหน้าบุกมาหา ถึงคณะหลายครั้งด้วย แต่คาดไม่ถึงว่า จะเกิดเหตุร้ายขึ้นจริง[19]

รุ่งขึ้น เวลา 11:30 นาฬิกา มีพี่น้องฝาแฝดเข้าแสดงตัวที่สถานีตำรวจชนะสงครามว่า เป็นผู้กระทำความ โดยแจ้งว่า คนหนึ่งชื่อ สุพจน์ ศิลารัตน์ อีกคนชื่อ สุพัฒน์ ทั้งสองอายุ 30 ปีเท่ากัน อาศัยอยู่และประกอบอาชีพค้าขายที่บ้านเลขที่ 12/382 หมู่ 4 ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ทั้งคู่ให้การภาคเสธว่า ทำไปเพราะไม่เห็นด้วยที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่มิได้เตรียมการมา ในวันเกิดเหตุ ตั้งใจจะไปสักการะพระแก้วมรกตที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงแวะไปก่อเหตุเสียก่อน[20] ตำรวจสอบสวนแล้วเชื่อว่า เป็นบุคคลเดียวกับในภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ไม่เชื่อว่า มิได้เตรียมการมา พันตำรวจโท ณัฐกร คุ้มทรัพย์ รองผู้กำกับการฝ่ายสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจชนะสงคราม ซึ่งร่วมเป็นพนักงานสอบสวน กล่าวว่า "จากพฤติกรรมเข้าใจว่า น่าจะติดตามความเคลื่อนไหวของนายวรเจตน์มานานพอสมควร ถึงรู้ว่า ขับรถยี่ห้ออะไร ทะเบียนอะไร และจอดบริเวณไหนของมหาวิทยาลัย"[20] จากนั้น ตำรวจแถลงข่าวว่า แจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และ 296 ประกอบมาตรา 289 และ 83[6][20][21]

พลตำรวจโท วินัย ยังกล่าวว่า ผู้ต้องหาทั้งสองมีประวัติกระทำความผิดลักษณะเดียวกันในหลายท้องที่[6] นอกจากนี้ ขณะที่นักข่าวขอสัมภาษณ์ สุพัฒน์ตอบว่า "อยากเตะนักข่าว"[6][20]

ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2555 เวลาเช้า พนักงานอัยการฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองเป็นจำเลยต่อศาลแขวงดุสิต ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งคู่ตามประมวลกฎหมายอาญาข้างต้น และสุพจน์ จำเลยที่ 1 เคยกระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1336/2553 ของศาลอาญา ซึ่งศาลอาญาพิพากษาจำคุกเจ็ดเดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ จึงขอให้นับโทษดังกล่าวต่อจากโทษในคดีนี้ด้วย[22][23] จำเลยทั้งสอง ให้การรับสารภาพ[23]

บ่ายวันเดียวกัน ศาลแขวงดุสิตพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุกคนละหกเดือน คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกคนละสามเดือน ให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 1336/2553 ของศาลอาญา รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 สิบเดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 สามเดือน ไม่รอลงอาญา[23] จำเลยทั้งคู่อุทธรณ์[23] ญาติจำเลยขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ วางประกันคนละ 22,000 บาท ศาลอนุญาต[24]

ปฏิกิริยา

หลังทราบเหตุ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กตนว่า ขอประณามความรุนแรงทุกประเภท ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้เหตุผล และแม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะรักษาความปลอดภัยดีแล้ว แต่ก็จะวางเวรยามเพิ่มต่อไป[17]

อนึ่ง มีรายงานว่า "บรรดาเพื่อนอาจารย์...และลูกศิษย์ รวมทั้งประชาชนผู้สนับสนุนอาจารย์วรเจตน์ ต่างออกมาประณามการกระทำอันป่าเถื่อนครั้งนี้" และคณะนิติราษฎร์แถลงว่า "บอกได้เลยว่า พวกคุณคิดผิด หากคิดว่าเรากลัว...ขอยืนยัน เราจะสู้ด้วยเหตุผลต่อไป แม้พวกคุณจะใช้กำลัง"[6] ขณะที่ สมยศ เชื้อไทย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า "การทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์...มิใช่เรื่องการทำร้ายร่างกายบุคคลธรรมดา...แต่ยังเป็นการทำร้ายและทำลายหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของฝ่ายข้างน้อยอย่างร้ายแรง หากสังคมไม่เกิดความสำนึกร่วมที่จะแสวงหาหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่าง ความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่ไร้ค่า จึงขอประณามการกระทำดังกล่าว"[20] และสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การกระทำของชายทั้งสองนั้น "ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ แต่จงใจมุ่งให้เกิดความแตกแยก และให้สังคมเกิดความโกลาหลวุ่นวาย ยากต่อการประนีประนอม หรือปรองดองสามัคคีระหว่างคนในสังคม"[25]

ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองออกแถลงการณ์ซึ่งมีเนื้อหาทำนองเดียวกัน กับทั้งวิงวอนให้สังคมใช้เหตุผลเป็นที่ตั้ง มหาวิทยาลัยยังได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย[26]

เย็นวันที่ 1 มีนาคม 2555 มีบุคคลจำนวนมาก เข้าให้กำลังใจแก่วรเจตน์ โดยถือป้ายว่า "คิดต่าง แต่ไม่คิดต่อย" [25]

แหล่งที่มา

WikiPedia: วรเจตน์ ภาคีรัตน์ http://www.bangkokpost.com/breakingnews/283461/jai... http://www.bangkokpost.com/news/politics/282369/ni... http://thaienews.blogspot.com/2010/09/19-53.html http://www.chulabook.com/description.asp?barcode=9... http://www.chulabook.com/description.asp?barcode=9... http://ganook.com/board/index.php?topic=6652.0 http://www.posttoday.com/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%... http://prachatai.com/journal/2014/06/54060 http://prachatai.com/journal/2014/06/54079 http://www.rsu-lawonline.com/content.php?ct_id=30